วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประเพณีไทย

เทศกาลและงานประเพณี จังหวัดชลบุรี

งานประจำปีจังหวัดชลบุรี เป็นงานประจำปีที่ชาวจังหวัดชลบุรีได้ร่วมกันจัดติดต่อกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 โดยรวมงานนมัสการพระพุทธสิหิงค์ งานสงกรานต์ และงานกาชาดไว้ด้วยกัน โดยถือเอาประมาณกลางเดือนเมษายนของทุกปีเป็นวันจัดงานกิจกรรมของงานประกอบไปด้วย ขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ พิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงโขน ของกรมศิลปากร และการแสดงทางวัฒนธรรม นิทรรศการ และการออกร้าน ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริม และรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ตลอดจนปลูกฝังคุณค่าด้านศิลปวัฒนธรรมไว้สืบไป


งานประเพณีวันไหล คือวันทำบุญขึ้นปีใหม่ของชาวทะเลในช่วงวันสงกรานต์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-20 เมษายน ของทุกปี ของชาวจังหวัดชลบุรี  มีการทำบุญตักบาตร สรงน้ำ ก่อพระเจดีย์ทราย เล่นสาดน้ำ และกีฬาพื้นบ้าน ในจังหวัดชลบุรี พื้นที่ที่จัดงานประเพณีวันไหล ดังนี้


 

งานประเพณีวันไหล พัทยา-นาเกลือและงานกองข้าวนาเกลือ กำหนดจัดงานในวันที่ 18-19-20 เดือนเมษายน ของทุกปี ณ บริเวณสวนสาธารณลานโพธิ์ นาเกลือ และวัดชัยมงคล พัทยาใต้  โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีรดน้ำดำหัว ขบวนแห่วันไหล การสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานของประชาชน และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ
งานประเพณีสงกรานต์ศรีมหาราชาและงานประเพณีกองข้าว  เป็นประเพณีอันเก่าแก่ของชาวเมืองชลบุรี ปัจจุบันมีที่อำเภอศรีราชาที่ยังคงรักษาประเพณีนี้อยู่ โดยจัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี ระหว่างวันที่ 19-21 เมษายน เพื่อเป็นการบวงสรวงเทพเทวดาที่ปกป้องคุ้มครองมาตลอดปี กิจกรรมของงานประกอบด้วยการจัดขบวนแห่ที่นำโดยกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่แต่งกายด้วยชุดไทย เข้าร่วมขบวน พิธีบวงสรวง และเซ่นสังเวยผี การสาธิตประเพณีกองข้าว การละเล่นพื้นบ้าน การสาธิต และจำหน่ายขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง



งานประเพณีก่อพระทรายวันไหล บางแสน เป็นงานประเพณีที่ชาวตำบลแสนสุขได้ถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยโบราณ เดิมเรียกว่า “งานทำบุญวันไหล” คือ การที่ประชาชนในหมู่บ้านต่าง ๆ ได้มาทำบุญร่วมกันเนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์ หรือวันปีใหม่ของไทย จัดทุกวันที่ 16-17 เมษายน ของทุกปี  โดยการนิมนต์พระทุกวัดที่อยู่ในเขตตำบลแสนสุขมาประกอบพิธีสงฆ์  มีการทำบุญ ตักบาตร สรงน้ำ หลังจากนั้นก็เป็นกิจกรรมก่อพระเจดีย์ทราย เล่นสาดน้ำ การละเล่น และกีฬาพื้นบ้าน เป็นต้น



งานบุญกลางบ้าน และเครื่องจักสานพนัสนิคม เป็นงานประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านานของชาวอำเภอพนัสนิคม ซึ่งจะจัดขึ้นในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ของสัปดาห์แรกเดือนพฤษภาคม หรือเดือน 6 ของไทย  ชาวบ้านจะนำอาหารมาร่วมกันทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้พระภูมิเจ้าที่เจ้ากรรมนายเวร ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อขับไล่สิ่งเลวร้าย ให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารสมบูรณ์ หลังพิธีสงฆ์จะมีการรับประทานอาหารร่วมกัน การละเล่นพื้นบ้าน และสาธิตการทำเครื่องจักสานพนัสนิคม



งานประเพณีวิ่งควาย เป็นประเพณีเก่าแก่ของจังหวัดชลบุรี เริ่มต้นจากชาวบ้านในท้องที่ต่าง ๆ นำเวียนเทียมควายบรรทุกสินค้ามาจอดพักแถบบ้านท่าเกวียนในตัวเมืองชลบุรี ระหว่างนั้นได้นำควายมาวิ่งแข่งกันเพื่อความสนุกสนานจนกลายเป็นประเพณี  โดยจัดขึ้นในเดือนตุลาคมของทุกปี นอกจากอำเภอเมืองแล้ว ยังมีการจัดที่อำเภอบ้านบึง อำเภอหนองใหญ่ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน  ในวันงานชาวไร่ ชาวนาจะตกแต่งควายของตนอย่างสวยงาม และนำควายมาชุมนุมกันที่บริเวณสนามหน้าเมืองชลบุรี มีการแข่งขันวิ่งควาย ประกวดสุขภาพควาย ประกวดการตกแต่งควาย ประกวดนางงาม “น้องนางบ้านนา” เป็นต้น